เงินบาทอ่อนค่า รับข่าวระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่-แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

December 5, 2021 News Comments Off on เงินบาทอ่อนค่า รับข่าวระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่-แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (29/11) ที่ระดับ 33.70/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/11) ที่ระดับ 33.60/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนพากันขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า B.1.1.529 ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเช่นกัน หลังนักลงทุนแทงหวย24กังวลว่าการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ช้าลง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แกว่งตัวผันผวนและกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหลังกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับโวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มลดน้อยลง หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มีนโยบายที่จะประกาศล็อกดาวน์เศรษฐกิจแม้จะมีการติดเชื้อในประเทศก็ตาม นอกจากนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการประกาศออกมาระหว่างสัปดาห์ส่วนมากแล้วจะบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

อาทิ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ได้เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 534,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 506,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 570,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ย.ของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 61.1 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 61.0 จากระดับ 60.8 ในเดือน ต.ค.

โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวซึ่งได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของสหรัฐนั้น ทำให้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้ โดยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในช่วงกลางสัปดาห์ว่า เฟดอาจปรับลดวงเงินในโครงการ QE มากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และจะมีการหารือกันในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ นักลงทุนยังจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน พ.ย.ในคืนวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะพุ่งขึ้น 581,000 ตำแหน่ง ในเดือน พ.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งคุมเข้มนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์รวมถึงความวิตกต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะทำให้ประเทศที่ต้องพึ่งพานักนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการโยกย้ายเงินทุนออกจากทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของประเทศไทย

โดยในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้มีแรงขายสุทธิกว่า 40,000 ล้านบาทในตลาดหุ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมหลังมีความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจากประเทศเสี่ยงก่อนหน้านี้จะมีโอกาสนำเชื้อโอไมครอนเข้ามายังประเทศ ซึ่งเคสชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากแอฟริกามีจำนวนทั้งสิ้น 783 ราย

โดยรัฐบาลให้เร่งติดตามนำกลับมาทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมเชิงรุก โดย ณ เวลานี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.58-33.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (3-12) ที่ระดับ 33.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (29/11) ที่ระดับ 1.1289/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/11) ที่ระดับ 1.1258/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากค่าเงินดอลลาร์พลิกกลับมอ่อนค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากวันหยุดเทศกาล Thanksgiving โดยก่อนหน้านี้ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 สัปดาห์ที่ระดับ 1.1195/97 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในยุโรป โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันอังคาร (30/11) เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มลดน้อยลง โดยนายฌอง กัสเต็กซ์ นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสเผยว่า

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะต้านทานวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และในวันพฤหัสบดี (2/12) ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนหลังจากที่ไอเอชเอสมาร์กิตซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนในเดือน พ.ย. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.4 จากระดับ 58.3 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยดัชนี PMI ยังคงปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ แต่ยังถูกกดดันจากภาวะคอขวดด้านอุปทาน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1236-1.1382 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/12) ที่ระดับ 1.1290/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (29/11) ที่ระดับ 113.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/11) ที่ระดับ 113.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนกลับมาเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลา 10 ปีปรับตัวลดลงจากระดับ 1.64% สู่ระดับ 1.49% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน นอกจากนี้

ล่าสุดทางญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% จากระดับ -0.5% ในเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.1% นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังได้แรงหนุนจากการที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ดีดตัวขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน รวมไปถึงกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค.ลดลงแตะระดับ 2.7% เมื่อเทียบรายเดือน

ขณะที่แรงงานในภาคบริการอาหารและที่พักเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ และอัตราว่างงานเดือน ต.ค.เมื่อปรับตามฤดูกาล ลดลงจาก 2.8% ในเดือน ก.ย. ซึ่งปรับตัวดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. และในวันอังคาร (30/11) ค่าเงินเยนยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขอัตราการว่างงานของเดือนตุลาคมที่ลดลงสู่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.8% เมื่อเดือน ก.ย.

อย่างไรก็ตามในวันพุธ (1/12) ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก โดยนายเซจิ อาดาชิ หนึ่งในกรรมการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้กล่าวในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดโออิตะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นว่า ทาง BOJ พร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็นเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.53-113.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/12) ที่ระดับ 113.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ