เตือนไทยรับมือ “เงินเฟ้อค้างนาน” ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ
April 3, 2022 News Comments Off on เตือนไทยรับมือ “เงินเฟ้อค้างนาน” ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ
“ดร.พิพัฒน์” เตือนระวังไทยอาจเจอภาวะ “เงินเฟ้อค้างนาน” ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพลากยาว ชี้อย่ามองเป็นแค่ “ปัญหาชั่วคราว” แนะ ธปท. มองหาทางแก้ไว้แต่เนิ่น ๆ ระบุขอให้ดูเฟดเป็นตัวอย่าง หวั่นตัดสินใจช้าส่งผลกระทบมากขึ้น พร้อมแสดงความกังวล “ชาวนาไทย” อ่วมปุ๋ยแพง-ส่อขาดทุนยับ
วันที่ 2 เมษายน 2565 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวถึงกรณีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงขณะนี้ ว่า ปัญหาใหญ่ของไทย คือ เงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุน ซึ่งเห็นด้วยว่าการขึ้นดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วยอะไร แต่ความเสี่ยงก็คือ หากไม่ทำอะไรเลย ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะค้างในระดับสูง และแรงกดดันเงินเฟ้อ จะยิ่งทำให้มีผลกระทบรอบสองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากผลกระทบรอบแรกที่มาจากราคาน้ำมัน ก็จะไปกระทบพวกราคาสินค้า ราคาอาหาร และ อาจจะเลยไปถึงการเรียกร้องปรับค่าแรง
“ถ้าผลกระทบรอบสองมากขึ้นเรื่อย ๆ จะยิ่งน่ากังวล ซึ่งแบงก์ชาติทุกประเทศก็กังวลตรงนี้ ว่าจะจัดการเงินเฟ้อก่อนที่การคาดการณ์เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เหมือนกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปีที่แล้วมองว่าไม่ต้องทำอะไร แต่มาปีนี้เงินเฟ้อพุ่งมากกว่าที่คาด ดังนั้น ธปท. ก็ต้องบริหารความเสี่ยงตรงนี้ด้วย อย่าไปมั่นใจการคาดการณ์เงินเฟ้อของตัวเองมากนัก แต่ต้องติดตามดูสถานการณ์ หากการคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มสูง ก็ต้องส่งสัญญาณแรง ๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็เห็นด้วยว่ายังไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย เพราะขึ้นไปเศรษฐกิจก็รับไม่ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะสุดท้าย ถ้าไม่ทำอะไรเลย เงินเฟ้อจะค้างนาน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จัดการยากมาก เพราะไม่ได้มากจาการที่เศรษฐกิจร้อนแรง” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า การดูแลปัญหาช่วงนี้ นโยบายการคลังก็ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาคือ ต้นทุนทางการคลังก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในวันนี้ มองกันว่าจะเป็นแค่ปัญหาชั่วคราว แต่ก็มีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะค้างยาวนาน หากเป็นเช่นนั้น นโยบายการคลัง และ นโยบายการเงินก็จะเหนื่อยกันมากขึ้น
“วันนี้ การบริหารความเสี่ยง ก็คงต้องมีการจำลองสถานการณ์ (scenario) ว่าถ้าเงินเฟ้อไม่ลงจะทำอย่างไร ต้องบริหารอย่างไม่ประมาท เพราะเราเห็นประสบการณ์ของเฟดแล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยถือว่าฐานต่ำค่อนข้างมาก เพราะ 2 ปีก่อนติดลบไป 6% มาปีที่แล้วกลับมาโตแค่ 1.5% ดังนั้น ไม่ต้องอะไรมาก แค่ให้โควิดหายไป คนสามารถออกมาเดินถนน เดินห้างสรรพสินค้า ใช้ชีวิตปกติ เศรษฐกิจก็จะเริ่มกลับมาโตได้แล้ว
“ตอนนี้เศรษฐกิจเราต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งก็มีความเสี่ยงว่าปัจจัยลบเหล่านี้จะทำให้เราเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่าศักยภาพไปนาน ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ผมคิดว่า แค่โควิดจบปีนี้เศรษฐกิจก็ไม่ติดลบแล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ สิ่งที่น่ากังวล และเป็นความเสี่ยงค่อนข้างมาก ก็คือ ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจากที่เข้าไปดูโครงสร้างการผลิตข้าว พบว่า ตอนที่ชาวนาจ่ายค่าปุ๋ยอยู่ที่กระสอบละ 600 บาท ชาวนาจะมีกำไรอยู่ที่ไร่ละ 1,000 บาท แต่หากราคาปุ๋ยแพงขึ้นไปถึง 3 เท่า กำไรของชาวนาก็น่าจะไม่เหลือเลย
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance